แนวทางสำหรับการรับอาสาเป็น Pacer
แนวทางทั่วไป
- พึงระลึกเสมอว่า การวิ่ง pacer เป็นการวิ่งเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตนเอง
- สามารถทำงานเป็นกลุ่ม และสามารถยอมรับผลที่จะออกมาของกลุ่มได้
- มีจิตใจที่พร้อมจะทำเพื่อคนอื่น ลดความเป็นตัวของตัวเองลง
- ลองคิดในมุมย้อนกลับว่า ถ้าเราเป็นนักวิ่งทั่วไป เราอยากได้อะไรบ้างในขอบเขตที่เป็นไปได้ จากนักวิ่งที่เป็น pacer
- ถ้ามีโอกาส ควรจะเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงการฝึกปฏิบัติในการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED
ก่อนวันงาน
- การรับอาสา ต้องประเมินศักยภาพของตัวเอง ว่าสามารถวิ่งจบตามเวลาด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ในแต่ละเวลาที่รับอาสามาได้อย่างสบายๆ หรือไม่
- หมั่นฝึกซ้อม อาจจะซ้อมได้หลากหลาย เช่น ซ้อมเรียกความฟิต, ซ้อมตาม pace ของตัวเอง, ซ้อมตามเวลาและสถานการณ์เท่าที่จะอำนวย
- ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมทีม รวมถึงขอข้อมูลการติดต่อกับผู้ประสานงาน ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงระหว่างวันวิ่งจริง
- ศึกษาเส้นทางของงาน สอบถามหรือพิสูจน์ระยะทางที่แท้จริง ถ้ามีโอกาสอำนวย อาจจะลองเทสรูทจริง เพื่อดูระยะทางสุทธิ หรือมีเส้นทางการวิ่งแมพอาจจะใช้ google map ลากเส้นเพื่อดูระยะทางสุทธิ
- จากข้างต้น ในกรณีเลวร้ายสุดที่เราไม่สามารถเทสรูทได้ หรือหาระยะทางสุทธิไม่ได้ ควรหาจุดเช็คพอยต์ที่บ่งบอกได้ว่า ระยะทางที่เหลือก่อนเข้าเส้นชัยตรงไหนคือเท่าไหร่ อาจจะหาได้จากการสังเกตจุดกลับตัว หรือลองวิ่งย้อนรูทไปสัก 1km ในตอนเช้าวันจริง เพื่อหาจุดสังเกต
- นำระยะสุทธิที่ได้ มาคำนวณ pace ที่จะใช้จริง และวางแผนการวิ่งในทีมกรณีที่บางรูทเป็นเส้นทางที่ไม่ปกติ (มีความชันมาก, มีความขรุขระ) แต่โดยทั่วไปหรือสถานการณ์ไม่ย่ำแย่ แนะนำให้วิ่งแบบเฉลี่ยความเร็วเท่ากันตลอดเส้นทาง
- หากมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถไปร่วมงาน หรือเกิดอาการบาดเจ็บ ควรแจ้งผู้ประสานงานล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
- วางแผนการพักผ่อนให้เพียง และวางแผนการรับประทานอาหารและการขับถ่ายให้ดี
ช่วงวันงาน
- ภาพลักษณ์ในวันงานที่ออกไปนักวิ่ง และผู้จัดงานจะมองอาสา pacer ที่ออกมาเป็นกลุ่มทีมงาน เพราะฉะนั้น เวลาทำอะไรก็ขอให้คำนึงถึงภาพลักษณ์ของกลุ่มเสมอ
- มีความตรงต่อเวลาในการนัดหมาย โดยทั่วไป ควรมาถึงหน้างานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนปล่อยตัว(หรือแล้วแต่ผู้ประสานงานจะนัดหมาย) เพื่อเตรียมตัวในหลายๆ ด้าน
- ให้ความสำคัญกับกลุ่มในการทำกิจกรรมก่อนปล่อยตัว (ผูกโป่ง, บรีฟงาน, ถ่ายรูปหมู่)
- ปรึกษาและตกลงกันในกลุ่มย่อยแต่ละช่วงเวลา ว่า ใครจะเป็น leader ในการขานเวลา เนื่องจาก gps module แต่ละเครื่องมันจะวัดได้ไม่ตรงกันแบบ 100% ถ้ามีผู้นำขานเวลาคนเดียว จะได้ไม่เกิดความสับสน ส่วนคนอื่นๆ อาจจะช่วยเช็คเวลาเพื่อความน่าเชื่อถือในช่วงครบระยะแต่ละกิโล
- ตำแหน่งการยืนปล่อยตัว อาจจะตกลงกับผู้จัดงาน ว่าต้องเข้า block ไหม ส่วนมากถ้าเป็นงานที่คนไม่มาก มักจะยืนหลบข้างทางในบริเวณหน้าจุดปล่อยตัว
- เริ่มจับเวลาตอน gun time หรือ ตอนให้สัญญาณปล่อยตัว ถ้าเป็นงานที่มีการปล่อยตัว Elite แยกกับนักวิ่งทั่วไป ให้ดูหน้าที่ว่า เราเป็น pacer สำหรับ Elite หรือนักวิ่งทั่วไป และเริ่มจับเวลา gun time สำหรับนักวิ่งกลุ่มนั้น
- หลังสัญญาณปล่อยตัว อาจจะไม่ได้ออกวิ่งทันที เนื่องจากความหนาแน่นของนักวิ่ง และอาจจะทำความเร็วเข้า pace ที่วางไว้ไม่ได้ แต่เป็นอันเข้าใจได้ในช่วงระยะ 2 กิโลแรกหรือมากกว่า โดยที่ค่อยๆ ปรับ pace จนเข้าสู่ pace มาตรฐานที่วางแผนกันไว้
- แนะนำการจับเวลาและรายงานผลแบบ Average Lap Pace (Lap 1 km) อาจจะเริ่มขานความเร็ว เมื่อครบระยะ 300m เป็นต้นไปในแต่ละ km นั้น เพื่อลดความแกว่งของข้อมูล จนเมื่อครบ 1 โล อาจจะรายงานทั้ง Lap Pace รวมถึง Average Overall Pace ก็ได้
- สมาชิกทีม อาจจะช่วยเหลือในการเช็คเวลา เมื่อครบแต่ละกิโล ว่า ห่างจาก Leader ขนาดไหน
- พยายามเชื่ออุปกรณ์จับระยะทางของตัวเองมากกว่าป้ายบอกหลักกิโลของงาน ยกเว้นแต่งานที่ได้รับการการันตีว่าการวางป้ายบอกระยะวางได้ตรงแน่นอน (ส่วนมากระยะตรงมักจะเป็นสัญลักษณ์เขียนบนพื้นถนนมากกว่า) และระมัดระวังอีกขั้น ในเส้นทางที่ผ่านต้นไม้หนาทึบ, ตึกขนาบข้าง, ลงอุโมงค์ลอดสะพาน, ท้องฟ้าเมฆหนาแน่น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสัญญาณ GPS
- ระวังเรื่องการขวางทางต่อนักวิ่ง ประเมินความกว้างของเส้นทาง บางช่วงทางแคบ อาจจะต้องเรียงแถวใหม่
- เวลาเข้าจุดให้น้ำ ถ้าไม่สามารถวิ่งไปทานน้ำไปได้ แนะนำให้เร่งความเร็วเข้าจุดรับน้ำก่อนและหยุดเดินทานน้ำจากนั้นกลับมาเข้าประจำตำแหน่งให้ทัน
- ทั้งกลุ่ม pacer ในระยะเวลานั้น ควรจะไปด้วยกัน สมาชิกไม่ควรจะทิ้งกลุ่มหรือแตกออกไปเพื่อไปวิ่งกับคนอื่น
- ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะต้องทำให้ล่าช้ากว่าเพื่อนในกลุ่ม เช่น เข้าห้องน้ำ, ปฐมพยาบาลนักวิ่งท่านอื่น (ถ้างานมาตรฐาน IAAF จะมีกฎว่าห้ามช่วยเหลือนักวิ่ง) และเมื่อมีการวิ่งตามกลับไปที่กลุ่ม ให้ทำการลดสัญลักษณ์ pacer (ลูกโป่ง, ธง) ลง เพื่อป้องกันนักวิ่งเกิดความสับสน จนกว่าจะสามารถกลับเข้ากลุ่มได้
- ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยต่อตัว pacer เอง จนไม่สามารถวิ่งได้ตามเวลาหรือวิ่งได้จนจบพร้อมกลุ่ม ให้ทำการปลดและฝากสัญลักษณ์ pacer(ลูกโป่ง, ธง) ไว้กับสมาชิก pacer ในกลุ่ม หรือถ้าไม่ฝากได้ ให้ทำการถอดสัญลักษณ์ออกและนำไปจัดการอย่างเหมาะสม (ปล่อยโป่ง, พับธงเดินถือ) เพื่อป้องกันความสับสนของนักวิ่ง
- พูดบอกเสียงดังฟังชัดแก่นักวิ่ง เวลามีจุดสำคัญ เช่น จุดให้น้ำ จุดถ่ายรูป ระวังพื้นไม่เรียบ รถขวางทาง เพื่อเป็นข้อมูล รวมถึงกระตุ้นสติของนักวิ่งไปในตัว
- ระหว่างเส้นทางควรให้กำลังใจนักวิ่ง พูดคุยสอบถามบ้างตามโอกาส สร้างความบันเทิง เพื่อให้นักวิ่งรู้สึกสนุกสานและเป็นกันเองกับการวิ่ง แต่ควรมีขอบเขตและระมัดระวังเรื่องคำพูดที่บางครั้งอาจจะไปทำร้ายจิตใจนักวิ่งแบบไม่ตั้งใจ
- พยายามยิ้มเยอะๆ ตลอดเส้นทาง แค่การยิ้มก็สามารถสร้างความสุขให้นักวิ่งที่อยู่ไกลๆ แต่มองเห็นได้ ถึงแม้ว่าข้างในแล้ว เราอาจจะเหนื่อยเต็มทนก็ตาม
- Leader หรือสมาชิกทีม สามารถคำนวณ pace ที่เหลือใหม่ได้ ในกรณีที่ระยะจริงที่เหลือ กับระยะที่วางแผนมาคลาดเคลื่อนกัน
- ไม่ควรหยุดถ่ายรูปหน้าเส้น หรือเดินเล่นเพราะเวลาเหลือ
- เมื่อรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองเสร็จสิ้นแล้ว ถ้าไม่มีธุระเร่งด่วน อาจจะอยู่ช่วยต้อนรับนักวิ่งหน้าเส้นชัย หรือวิ่งย้อนกลับไป เพื่อไปสมทบกับ sweeper
หลังจบงาน
- แชร์ประสบการณ์ รวมถึงปัญหาที่พบเจอ และแนวทางการแก้ไข รวมถึงข้อเสนอแนะ ให้กับทีมงานและผู้จัดงาน เพื่อจะได้พัฒนามาตรฐานของทั้งงานและบุคลากรของวงการวิ่งต่อไป
แนวทางเพิ่มเติมสำหรับอาสา sweeper
- ใช้แนวทางคล้ายๆ กับ Pacer แต่อาจจะมีในรายละเอียดมากกว่าเช่น
- ต้องประสานงานกับทางผู้จัด อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะงานที่จัดแบบมีการปิดถนน ถึงขอบเขต แนวทางและช่วงเวลาที่สามารถอนุญาตให้นักวิ่งอยู่บนเส้นทางได้ ในกรณีที่นักวิ่งคนสุดท้ายอยู่เกินเวลาที่กำหนด ว่าจะจัดการอย่างไร
- ควรพกอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- หลังปล่อยตัวนักวิ่ง ยังไม่จำเป็นต้องออกตัวทันที อาจจะออกตัวในอีก 10-15 นาทีให้หลัง หรือออกตัวหลังปิดจุดปล่อยตัวที่ทางผู้จัดประกาศ หรือมั่นใจว่านักวิ่งคนสุดท้ายได้ออกตัวไปแล้ว
- ประกบนักวิ่งท่านสุดท้าย ถ้างานมีนักวิ่งหลายระยะ อาจจะต้องแอบสังเกตบิบของนักวิ่ง หรือสอบถามนักวิ่งบ้างในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าใช่นักวิ่งคนสุดท้ายในระยะที่รับผิดชอบหรือไม่
- ถ้าทีมงานมี sweeper จำนวนมากพอ อาจจะแบ่งกำลังไปประกบนักวิ่งกลุ่มก่อนสุดท้ายบ้างก็ได้
- ถ้านักวิ่งคนสุดท้ายที่ประกบอยู่ เกิดถอดใจ หรือ dnf ขึ้นมา อาจจะต้องประสานงานกับทางผู้จัด ให้ช่วยมาดูแล หรือมารับออกจากเส้นทาง หรือแล้วแต่ตกลงกับทางนักวิ่งเอง
- จากข้อข้างต้น sweeper จะต้องเร่งฝีเท้า เพื่อตามนักวิ่งกลุ่มก่อนหน้าให้ได้ แต่ไม่ต้องรีบร้อนเกินไปจนลืมประเมินกำลังของตัวเอง
- มีจิตวิทยาในการเจรจา พยายามชวนคุยหรือให้กำลังใจหรือแอบกดดันเล็กๆ และหลีกเลี่ยงการพูดหยอกล้อ ที่อาจจะไปกระทบหรือบั่นทอนจิตใจของนักวิ่งคงสุดท้ายอย่างไม่ตั้งใจ
- เมื่อถึงเส้นชัย พยายามขอกำลังใจจากนักวิ่งที่ยังอยู่ในงาน ให้กับนักวิ่งท่านสุดท้ายที่กำลังเข้าเส้นชัย
แนวทางเพิ่มเติมสำหรับอาสา Runner Guard
-
แนวทางเพิ่มเติมสำหรับอาสา Runner Guard
- ใช้แนวทางหลักๆ คล้ายๆ กับ Pacer
- แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ในแต่ละงาน Job Description จะไม่เหมือนกันเลย แต่หลักๆ คือ ดูแลนักวิ่ง
- ขึ้นอยู่กับทางผู้จัดงานว่าจะต้องการให้ทำอะไรบ้าง มีขอบเขตขนาดไหน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประชุมระหว่างผู้จัดงาน และกลุ่มอาสาเป็นหลัก
- ผู้รับอาสา ควรเข้าใจและรับมติร่วมกันจากที่ประชุม รวมถึงมีทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้